10 เคล็ดลับเตรียมรับมือเด็กแรกเกิด
03 ธ.ค. 63
905
เด็กแรกเกิด นำมาซึ่งความตื่นเต้นกับชีวิตในมุมใหม่ๆที่กำลังจะเข้ามา แต่สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือความกังวล ความเครียด และความกลัวต่างๆ นาๆ สำหรับพ่อแม่ ไม่ว่าคุณจะมือใหม่หรือไม่ ลองมาดู 10 เคล็ดลับดังต่อไปนี้ กับการเตรียมพร้อมรับมือเด็กแรกเกิด เพื่อให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างง่ายและดีที่สุดกันค่ะ

1- ใจต้องเย็นไว้ก่อน
ในยุคที่ทำอะไรก็ต้องเร่งรีบ การใช้ชีวิตออนไลน์เป็นประจำ คลิกแล้วเจอ ถามแล้วค้นพบคำตอบ ซื้อแล้วส่งมาภายใน 1 วัน...ทำให้เคยชินกับการได้ดั่งใจอย่างรวดเร็ว ทำให้เราทุกคนต่างใจร้อนกันมากขึ้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนใจร้อน ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ด่วน ต้องระวังและปรับอารมณ์ให้ได้สำหรับลูกน้อย แบบว่า ทุกอย่างต้องช้าลง (Slow it down) เพราะการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด คุณจะพบเรื่องไม่ได้ดั่งใจ ไม่ทันใจ ในแต่ละวันมากมาย ความใจเย็น การข่มใจนับ 1 ถึง 10 แล้วใช้ใจในการเลี้ยงลูกจะช่วยให้ผ่านไปได้ด้วยดี เราต่างต้องเข้าใจว่าเด็กแรกเกิดยังไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่จะสามารถฟังภาษาคุณรู้เรื่องได้ หรือบอกอะไรให้ทำตามได้อย่างง่ายๆ (ขนาดตัวเรา เป็นผู้ใหญ่เอง ยังเผลอเอาแต่ใจตัวเองได้...)

2- ล้างมือให้บ่อย
เด็กแรกเกิดมีภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยง่าย ไม่เหมือนผู้ใหญ่ พ่อแม่และคนเลี้ยงดูควรเปลี่ยนพฤติกรรมมาล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยครั้งหลังหยิบจับทำอะไรต่างๆในบ้าน และนอกบ้าน อาจไม่จำเป็นจะต้องคิดว่าต้องล้างก่อนจับลูกทุกครั้ง เพราะคุณอาจลืมได้ หรืออาจไม่ทันการเวลาฉุกเฉินต้องจับลูก แต่ให้เปลี่ยนพฤติกรรมแทน ให้ล้างมือบ่อยขึ้นแทน หรือล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ หยิบของ รับของจากคนอื่น ฯลฯ และสำหรับผู้มาเยี่ยมเยียน คุณควรคอยระวังรักษาความสะอาดทุกคนก่อนจับตัวลูกน้อยเสมอ

3- ตรวจตราความปลอดภัย
ต่อไปนี้ชีวิตคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในสิ่งของต่างๆ รอบตัวในบ้าน ต้องระวังให้มากที่สุด หมั่นตรวจเช็คความเรียบร้อยของเตียงหรือเปล ของมีคม ไฟฟ้า และห้ามให้เด็กแรกเกิดอยู่เพียงลำพังเด็ดขาด เพื่อลดอุบัติเหตุ และความเสี่ยงเจ็บตัวของลูกน้อยแรกเกิด

4- ไม่ควรอุ้มลูกน้อยและทำเรื่องอื่นไปด้วย
พ่อแม่ คนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ไม่ควรอุ้มลูกไปด้วย และทำอย่างอื่นไปด้วย ไม่ได้แม้อ่านหนังสือ อ่านคู่มือเลี้ยงเด็ก เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ปลอดภัยไว้ก่อนดีที่สุด ถ้าไม่แน่ใจ ในขณะอุ้มลูกน้อย อย่าเอื้อม อย่าทำอะไรเกินตัวที่อาจเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ เพราะไม่คุ้มกันค่ะ

5- ลูกกินอิ่มนอนกลับแล้วชีวิตจะสงบ
ใช่ค่ะ ชีวิตพ่อแม่จะสงบขึ้น ถ้าลูกได้สองอย่างนี้ครบถ้วน แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางครั้งลูกก็ไม่ยอมนอน บางครั้งลูกก็ไม่ยอมกิน แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ เด็กแรกเกิดจะหงุดหงิดอยู่ไม่กี่เรื่องหรอกค่ะ แต่ถ้าลูกกินอิ่มนอนหลับ ทุกอย่างก็จะกลายเป็นงานง่ายขึ้นทันตาเห็น ดังนั้นอย่ายอมปล่อยให้เขาหิว และทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกนอนได้หลับอย่างสบายที่สุด และในช่วงเดือนแรก แนะนำให้ป้อนนมทารกอย่างน้อย 6-12 ครั้งต่อวัน จากการให้นมแม่จากเต้า หรือขวดก็ตาม ระวังอย่าป้อนนมลูกในแต่ละครั้งมากเกินไป คอยสังเกตอาการของลูกน้อยเมื่อรู้สึกอิ่ม เพื่อปรับปริมาณและเวลาที่ป้อนนมให้เหมาะสม

6- นมแม่ดีที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด
เด็กแรกเกิดในช่วงก่อน 6 เดือน ลูกทานได้แค่นมเท่านั้น นมแม่ หรือนมสำหรับเด็กก็ตาม แต่แนะนำว่าการให้นมแม่คือสิ่งที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุด เพราะลูกในวัยนี้ระบบย่อยอาหารยังไม่แข็งแรงพอ ไม่ควรให้อาหารแข็ง แม้แต่กล้วยบด หรือแม้แต่น้ำเปล่าก็ยิ่งไม่ควรค่ะ ในน้ำนมแม่มีน้ำอย่างเพียงพอแล้ว เพราะมีส่วนประกอบของน้ำอยู่แล้วถึง 80%

7- เปลี่ยนเป็นคนช่างสังเกต
พ่อแม่หลายคนโดยธรรมชาติแล้วอาจไม่ใช่คนช่างสังเกตุ แต่เมื่อมีเด็กแรกเกิดอยู่ในบ้าน จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนใส่ใจรายละเอียด ช่างสังเกตุมากขึ้น ทั้งสิ่งแวดล้อม และรวมถึงอาการต่างๆ ของลูกน้อย เพราะลูกอาจหิว ง่วงนอน หรือต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม พ่อแม่จำเป็นต้องเฝ้าดู สังเกต ตั้งคำถาม เพื่อการดูแลที่ดีที่สุด เพราะลูกยังไม่สามารถสื่อสารบอกคุณได้นอกจากสื่อสารด้วยการร้องไห้งอแง

8- อย่าปฎิเสธการช่วยเหลือจากคนอื่น
การเลี้ยงเด็กแรกเกิด ไม่ใช่เรื่องที่คนหนึ่งคนจะทำได้ไหว บางคนถึงกับหมดแรง ปวดแขน ปวดขา ปวดหลังไปหมด ดังนั้น ถ้าได้รับการช่วยเหลือจากคู่ของตัวเอง หรือญาติผู้ใหญ่ หากช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องต่างๆ ได้ ถือเป็นเรื่องดี และไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรที่จะให้คนอื่นช่วยดูบ้างเป็นครั้งคราว (อย่างระมัดระวัง) หรือช่วยแบ่งเบาภาระคุณในเรื่องอื่นๆ เพื่อที่คุณจะได้มีเวลามาดูลูกอย่างใกล้ชิดที่สุดได้

9- ความรักคือทุกสิ่ง
นอกจากเด็กแรกเกิดจะต้องกินอิ่มนอนหลับเต็มที่แล้ว สำหรับพัฒนาการที่ดี พ่อแม่ควรให้ความรัก และความใกล้ชิดกับลูกให้มากที่สุด พูดคุย เล่น สื่อสาร ใช้ชีวิตร่วมกันกับลูกให้มากที่สุด

10- พ่อแม่ควรหาความรู้เพิ่ม
ตั้งแต่ช่วงทารกแรกเกิดมาจนถึง 1 ขวบ ทารกจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ตั้งแต่กินและนอนเฉยๆ ไปจนถึงสามารถเริ่มฟัง เริ่มสื่อสารได้ และเริ่มกินอาหารตามวัยได้หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ขอให้พ่อแม่เตรียมรับมือให้ดีด้วยการหาข้อมูลเพิ่ม ไม่เข้าใจก็ยื่นมือไปถามผู้ที่มีประสบการณ์กว่า จะช่วยได้มาก อย่าเก็บปัญหา และคำถามไว้คนเดียวและเดาไปเอง เพราะสิ่งที่พ่อแม่คิดว่าใช่ บางครั้ง มันอาจไม่ใช่เลยก็ได้ค่ะ

Source: 
  • https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/newborn/art-20045498
  • https://www.webmd.com/parenting/baby/features/10-mistakes-new-parents-make#1

บทความที่เกี่ยวข้อง