ลูกท้องผูกบ่อย ถ่ายยาก สาเหตุเกิดจากอะไร มีวิธีแก้อย่างไร?
21 มิ.ย. 64
328517
ลูกท้องผูกบ่อย ถ่ายยาก สาเหตุเกิดจากอะไร มีวิธีแก้อย่างไร?

ปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออก คือ ปัญหา สำหรับคุณพ่อคุณแม่เมื่อ ลูกท้องผูก
สำหรับเด็กเล็ก ๆ ในวัยทารก เรื่องของท้องผูกกลับไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เมื่อลูกน้อยท้องผูกบ่อย ถ่ายยาก ถ่ายไม่ออก ทำไงดี ? มีคำถามมากมายในหัวก็ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายท่านรู้สึกกังวลและไม่รู้ว่าจะรับมือกับอาการลูกท้องผูกอย่างไรดี เพราะจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้นอย่างคิดไม่ถึง วันนี้เรามีเคล็ดลับวิธีแก้เมื่อท้องผูกมาฝากคุณพ่อคุณแม่ดังนี้

สาเหตุหลักของท้องผูกในเด็กเล็ก
สาเหตุที่มักทำให้ลูกน้อยเกิดอาการท้องผูกในเด็กเล็ก ๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ขวบเลยก็มี เด็กบางคนอาจจะเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการถ่ายยากมากขึ้น ก็เนื่องด้วยสาเหตุที่คนเป็นพ่อแม่และผู้ใหญ่อาจจะคาดไม่ถึงได้แก่

1. ไม่ได้ทานนมแม่
หากลูกน้อยไม่ได้ทานนมแม่ แต่ได้รับนมผสมสูตรที่อาจไม่เหมาะกับสภาพลำไส้ ก็อาจท้องผูกได้ เพราะในนมแม่มีใยอาหารที่ช่วยเสริมสุขภาพลำไส้ ทำให้ขับถ่ายง่าย

2. ได้รับน้ำน้อยเกินไป
ทารกก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เมื่อขาดน้ำหรือได้รับน้ำน้อยเกินไป ก็จะทำให้อุจจาระแห้งแข็ง เป็นสาเหตุให้ถ่ายยาก ถ่ายไม่คล่องและท้องผูกในที่สุด แต่ในทารกวัยแรกเกิดถึง 6 เดือนที่ทานนมแม่ได้อย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องทานน้ำเสริม เพราะทารกจะได้รับน้ำจากน้ำนมแม่ได้อย่างเพียงพออยู่แล้ว

3. มีการเปลี่ยนนมหรือชนิดของอาหารเสริม
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนอาหารทั้งนมผงสูตรใหม่ ยี่ห้อใหม่ ทารกจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับอาหารใหม่เนื่องจากระบบการย่อยของเด็กเล็ก ๆ ยังทำงานไม่สมบูรณ์อาจจะมีอาการท้องผูกได้

4. เกิดจากอาการป่วยของลูก
การเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้หวัด ตัวร้อน บางครั้งก็อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เนื่องจากการขาดน้ำ เมื่อหายจากอาการป่วย อาการท้องผูกก็มักจะหายไป

5. เกิดจากกรรมพันธุ์
ในครอบครัว ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีประวัติถ่ายยากและท้องผูกบ่อย ทารกก็อาจจะท้องผูกได้ง่าย

6. เกิดความผิดปกติของระบบขับถ่ายหรือลำไส้
เกิดจากความผิดปกติของลำไส้หรือระบบขับถ่าย ภาวะลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด ในกรณีนี้ต้องพาลูกน้อยไปพบแพทย์

7. ทารกคลอดก่อนกำหนด
เมื่อทารกคลอดก่อนกำหนดระบบย่อยอาหารยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ทำให้อาหารเคลื่อนในระบบช้าและย่อยไม่สมบูรณ์ ก็อาจท้องผูกได้

8. เกิดจากแพ้อาหารผ่านคุณแม่
คุณแม่ในช่วงให้นมบุตร รับประทานอาหารบางชนิด ก็จะอาจส่งผลผ่านไปถึงน้ำนมที่ลูกได้รับ ทำให้ท้องผูกได้

วิธีสังเกตว่าลูกท้องผูกหรือไม่
อาการท้องผูกของลูกน้อยในวัยทารก เป็นอาการที่สังเกตได้ไม่ยาก ไม่เหมือนอาการป่วยและผิดปกติอื่น ๆ ทารกในวัยแรกเกิดถึงสามเดือนหากทานนมแม่ มักถ่าย 1-5 ครั้งต่อวัน ทารกในวัย สามเดือนถึงหกเดือน มักจะถ่ายประมาณ 1-3 ครั้งต่อวัน เมื่อทารกอายุ 5 เดือนขึ้นไป จะถ่ายอยู่ที่ 1-2 ครั้งต่อวัน แต่การที่ทารกบางคนในบางช่วงไม่ได้ถ่ายทุกวันก็ไม่ใช่ว่าจะมีสาเหตุจากความผิดปกติหรือท้องผูก จำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้แก่

1. ลูกน้อยไม่ค่อยถ่าย
ทารกไม่ถ่ายติดต่อกัน 2-3 วันประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนสูตรนมหรืออาหารเสริม

2. ลูกน้อยเบ่งแรงและหงุดหงิดงอแงในช่วงขับถ่าย
ถ้าในเวลาเบ่งถ่ายลูกน้อยมีสีหน้าท่าทางเบ่งแรง ออกแรงเบ่งมาก งอแงหรือร้องไห้เวลาถ่าย อาจจะเป็นเพราะท้องผูก ถ่ายไม่ออก อุจจาระแข็ง

3. ลูกท้องแข็ง
อาการท้องแข็งอาจจะเกิดจากมีลมมากในท้องหรือท้องผูกได้

4. ถ่ายมีเลือดปน
การถ่ายมีเลือดปนเป็นสาเหตุมาจากเกิดแผลที่ทวารเนื่องจากอุจจาระแข็งบาดเนื้อ เป็นผลมาจากทารกท้องผูกนั่นเอง

เคล็ดลับตัวช่วย วิธีแก้ถ่ายไม่ออก ป้องกันไม่ให้ทารกท้องผูก
1. เปลี่ยนเมนูอาหารสำหรับคุณแม่
ในกรณีที่ เด็กท้องผูก และหาสาเหตุไม่ได้โดยเฉพาะทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนที่ดูดนมแม่อย่างเดียว อาจมาจากอาหารที่แม่รับประทาน ให้คุณแม่ปรับเปลี่ยนเมมนูอาหารก็อาจช่วยได้

2. เปลี่ยนสูตรนมผง
ถ้าลูกกินนมผงแล้ว อาจปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนสูตรนมจากสูตรปกติ เป็นนมสูตรคอมฟอร์ท ซึ่งมีการปรับสารอาหารต่างๆทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และเสริมใยอาหารพรีไบโอติก เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กที่มีปัญหาไม่สบายท้องต่างๆ รวมทั้งเด็กที่มีอาการท้องผูกด้วย จึงเป็นอีกทางเลือกของคุณแม่ก่อนการใช้ยาสวนและยากินต่างๆ

3. ใส่น้ำผลไม้เล็กน้อยในน้ำนมให้ลูก
ทารกในวัย 6 เดือนขึ้นไปที่เริ่มทานอาหาร เมื่อท้องผูกคุณแม่อาจให้ลูกทานน้ำผลไม้ เช่น น้ำลูกพรุน น้ำแอปเปิ้ล หรือน้ำลูกแพร์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการลูกท้องผูกได้

4. ให้รับประทานใยอาหาร
วัยเริ่มหัดรับประทานอาหารเสริม ควรให้ลูกทานทานผลไม้ที่มีกากใยอาหาร เช่น ลูกแพร์ บล็อกเคอรี่ ลูกพรุน แอปเปิ้ล 

5. ให้ลูกน้อยขยับเคลื่อนไหว
การอุ้มลูกตลอดเวลาหรือให้เด็กอยู่เฉยๆ ทำให้ลำไส้ไม่ค่อยเคลื่อนไหว หรือมีแรงบีบตัว อาจเป็นผลให้ไม่ขับถ่ายและอาหารไม่ย่อยได้ ลองหากิจกรรมให้เด็ก ๆ เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้นก็จะช่วยได้

อาการท้องผูก เป็นอาการที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกไม่สบายและทรมาน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำเทคนิควิธีเหล่านี้ไปช่วยดูแลลูกรักให้ห่างไกลจากอาการท้องผูกได้ไม่ยาก เพียงต้องเอาใจใส่ในเรื่องต่าง ๆ และคอยสังเกตลูกน้อยอยู่เสมอเท่านั้น

คุณแม่จะช่วยลูกน้อยที่มีอาการท้องผูกหรือไม่ถ่ายได้อย่างไร?
อาการท้องผูกเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งนอกเหนือจากจะก่อให้เกิดความไม่สบายตัวแล้ว ยังอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงขอโรคบางชนิดในอนาคตได้ ลองดูเคล็ดลับในการช่วยแก้ปัญหานี้นะคะ
●    แนะนำให้กินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ
●    ดื่มน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลซอร์บิทอลสูง เช่น น้ำลูกพรุน น้ำแพร์ น้ำแอปเปิ้ล
●    ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
●    เด็กที่มีอาการท้องผูกควรได้รับนมแม่ให้นานที่สุด และในเด็กบางรายอาจพิจารณานมสูตรพิเศษที่ช่วยให้นมย่อยได้ง่ายขึ้นและส่วนผสมของไขมันพืชที่มีกรดเบต้าปาล์มิติกสูง
คำแนะนำดังกล่าวเป็นคำแนะนำเบื้องต้น หากต้องการทราบเทคนิคต่างๆ ควรปรึกษากุมารแพทย์หรือพยาบาลแผนกเด็กนะคะ
Tips ง่ายๆสำหรับคุณแม่ที่กังวลเมื่อลูกไม่ถ่าย

คุณแม่คงทราบดีว่าผลไม้มีใยอาหาร ช่วยในการชับถ่าย แต่การให้ลูกทานผลไม้ต้องรอให้ลูกมีพัฒนาการในการเคี้ยวและย่อยที่เหมาะสมก่อน แม่หลายท่านจึงเลือกให้ลูกดื่มน้ำผลไม้ และน้ำส้มคั้นก็เป็นเมนูยอดนิยมสำหรับคุณแม่เพราะเตรียมเองได้ง่ายและน่าจะสะอาดกว่า แต่ความจริงแล้วมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคจากเปลือกส้มซึ่งทำให้ลูกท้องเสียได้ และใยอาหารในน้ำส้มอาจมีปริมาณไม่มากพอที่จะช่วยลดท้องผูก น้ำผลไม้ที่เชื่อว่าช่วยการขับถ่ายได้ เช่น น้ำพรุน เพราะมีสารที่ชื่อว่า ซอร์บิทอล เป็น ยาระบายตามธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ รู้อย่างนี้แล้ว เลือกน้ำผลไม้ให้เหมาะสม และปลอดภัยกับลูก อย่าให้มากเกินไปเพราะน้ำผลไม้มีน้ำตาลสูง และอาจทำให้กินนมได้น้อยลงและยังได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หากยังกังวลว่าลูกยังท้องผูกอยู่ ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม แพทย์อาจให้ยาระบายชนิดอื่นๆที่มีประสิทธิภาพ
สแกนลักษณะอึลูกน้อย

บทความที่เกี่ยวข้อง