แพ้นมวัว ลูกมีอาการแพ้นมวัว ต้องทำอย่างไร
รับมืออย่างไร เมื่อลูกแพ้นมวัว
แพ้นมวัว คืออะไร
แพ้นมวัว หรือแพ้โปรตีนนมวัว เป็นหนี่งในกลุ่มโรคภูมิแพ้ ที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นแพ้อากาศ แพ้ไรฝุ่น แพ้อาหารทะเล รวมถึงโรคหอบหืดต่างๆ
โดยอาการแพ้นมวัวจะเป็นภูมิแพ้แรกๆที่ ร่างกายแสดงออก และพบมากในเด็กเล็กที่เริ่มเปลี่ยนจากการกินนมแม่มากินนมผสม ในเด็กบางรายอาจจะแสดงอาการแพ้ในขณะที่ได้รับนมแม่ได้ หรือที่เรียกว่า แพ้ผ่านนมแม่ ซึ่งเกิดจากการที่แม่กินอาหารที่ส่วนผสมของนมวัว แล้วนมวัวบางส่วนผ่านจากนมแม่มาสู่ลูกได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ในเด็กที่แพ้ง่ายอาจทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา
ทำไมลูกมีอาการแพ้นมวัว
การแพ้นมวัว คือ การแพ้ส่วนของโปรตีนที่อยู่ในนมวัวนั่นเอง จึงเรียกอย่างถูกต้องตามศัพท์ทางการแพทย์ คือ แพ้โปรตีนนมวัว และอย่างที่กล่าวในเบื้องต้นว่าการแพ้โปรตีนนมวัวเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิแพ้ ซึ่งกลไกการเกิดการแพ้นั้นมาจากการที่ระบบภูมิต้านทานของร่างกายมีการตอบสนองต่อสารบางชนิดไวกว่าปกติ ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ใช่สารที่มีอันตราย
การแพ้โปรตีนนมวัวก็เช่นเดียวกัน โปรตีนในนมวัวไม่ใช่สารอันตราย และไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใดๆในคนทั่วไป แต่ในเด็กที่มีอาการแพ้นมวัว ระบบภูมิต้านทานของเด็กจะมองเห็นว่าโปรตีนนมวัวเป็นสิ่งที่ต้องต่อต้าน จึงมีการปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมาเพื่อกำจัดโปรตีนนมวัว สารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นนั่นเองที่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆขึ้น
มีข้อสันนิษฐานว่า การที่แพ้โปรตีนนมวัวนั้นเกิดขึ้นเฉพาะในเด็กเป็นเพราะว่าระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิต้านทานของเด็กโดยเฉพาะในเด็กทารกซึ่งยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ โปรตีนนมวัวซึ่งโมเลกุลมีขนาดใหญ่ อาจผ่านจากระบบทางเดินอาหารไปกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของเด็ก
อาการแพ้นมวัวเป็นอย่างไร
แพ้นมวัว หรือแพ้โปรตีนนมวัว มีการแสดงออกได้หลายอาการ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับ 3 ระบบของร่างกาย คือระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และระบบผิวหนัง โดยอาการต่างๆมักเกิดขึ้นหลังจากลูกได้รับจากนมวัว เช่น ในช่วงแรกที่เริ่มเปลี่ยนจากนมแม่มาเป็นนมผสม หรือในกรณีที่แม่กินผลิตภัณฑ์จากนมวัวแล้วให้นมลูกแล้วลูกเกิดอาการแพ้นมวัว อาการที่พบได้บ่อยในแต่ละระบบ เช่น
● ระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเหลวหรืออาจมีมูกเลือด
● ระบบทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูกเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงวีด นอนกรน
● และระบบผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ผื่นลมพิษ ผื่นเม็ดทราย และมักจะมีอาการในหลายระบบร่วมกัน มีความเรื้อรัง แม้พยายามรักษาตามอาการแล้วก็ไม่หายขาด เนื่องจากไม่ได้ดูแลที่ต้นเหตุของอาการอย่างแท้จริง
หากแพ้นมวัวแล้วจะเป็นไปจนโต
ในทางการแพทย์ โรคภูมิแพ้จะมีความต่อเนื่อง และพัฒนาจากแพ้แบบหนึ่งไปแพ้อีกแบบหนึ่งเมื่อลูกโตขึ้น และในปี ค.ศ.2000 มีการนำเสนอลำดับการพัฒนาของโรคภูมิแพ้ที่เป็นต่อเนื่องกันได้จากเด็กจนโต หรือที่เรียกว่า Allergic March
ในช่วงขวบปีแรก ภูมิแพ้มักปรากฏด้วยอาการแพ้อาหาร ที่พบบ่อยคือการแพ้นมวัว และไข่ หรืออาจแพ้อาหารหลายชนิดพร้อมกัน แล้วค่อย ๆ หายเมื่อโตขึ้น
ผื่นแพ้ผิวหนังเป็นอาการที่พบได้ควบคู่กับการแพ้อาหาร อาจพบได้มากในช่วงอายุขวบปีแรกเช่นกัน ส่วนใหญ่ดีขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเรียน หลังจากนั้นมักจะมีอาการแพ้อากาศ และอาการหอบหืดตามมาเมื่อเด็กโตขึ้น จนถึงวัยรุ่น ซึ่งหลายคนอาจจะมีอาการเหล่านี้จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
ซึ่งอาการแพ้อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของลูกในระยะยาว ดังนั้นคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลอย่างถูกวิธีเพื่อช่วยให้ลูกเติบโตอย่างเต็มศักยภาพและมีสุขภาพแข็งแรง
การรับมืออาการแพ้นมวัว
ในกรณีที่คุณแม่สงสัยว่าลูกมีอาการแพ้นมวัว โดยสังเกตจากอาการต่างๆในเบื้องต้น และพบว่าอาการเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกับการได้รับนมวัว ก่อนอื่นคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคภูมิแพ้ เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการแพ้นมวัวจริง
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจเพราะถ้าลูกได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้โปรตีนนมวัวจริง วิธีการรับมือก็ไม่ยาก เพียงปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางปรับโภชนาการให้เหมาะสมโดยแพทย์อาจแนะนำ
กรณีที่กินนมแม่ คุณแม่ยังให้นมแม่ต่อได้ เพียงแต่ควรงดนมวัวและผลิตภัณท์จากนมวัวทุกชนิด เพราะโปรตีนนมวัวที่คุณแม่รับประทานจะถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและอาจส่งผ่านสู่น้ำนมแม่ และเมื่อเข้าสู่ร่างกายลูกก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้
ทางเลือกนมสำหรับเด็กแพ้นมวัว
กรณีที่กินนมผสม แพทย์มักจะเลือกใช้นมสูตรเฉพาะสำหรับดูแลอาการแพ้โปรตีนนมวัวโดยเฉพาะ หรือในทางการแพทย์เรียกว่า นมผง eHF, ซึ่งเป็นโปรตีนผ่านการย่อยอย่างละเอียด (extensively hydrolyzed formula; eHF)
นมสำหรับเด็กที่มีอาการแพ้นมวัว มีให้เลือก 2 ชนิดตามอาการที่เกิดขึ้นว่าเป็นที่ระบบใดของร่างกาย
1. นม eHF
สูตร สำหรับการแพ้โปรตีนนมวัวที่มีอาการในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal symptoms) โดยเฉพาะ เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลวหรืออาจมีมูกเลือด นมกลุ่มนี้จะมีการสกัดเอาน้ำตาลแลคโตสในนมออก และอาจเติมกรดไขมันสายกลางหรือที่เรียกว่า มีเดียมเชนไตรกลีเซอไรด์ (Medium chain triglyceride: MCT) เพื่อสามารถย่อยและดูดซึมทั้งคาร์โบไฮเดรตและไขมันได้ง่าย ภายหลังที่อาการดีขึ้นแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้กลับไปใช้นมสูตร eHF ที่มีแลคโตสและไขมันแบบปกติ
2. นม eHF
นมสูตร สำหรับการแพ้โปรตีนนมวัวทั่ว ๆ ไป ซึ่งแสดงอาการ เด่นทางระบบทางเดินหายใจ มีน้ำมูกไหลเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก และระบบผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ผื่นเม็ดทราย อาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วยแต่ไม่รุนแรง ซึ่งนมกลุ่มนี้จะ ออกแบบมาให้มีน้ำตาลแลคโตสได้ และอาจเสริมพรีไบโอติกซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก
บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่?