เมื่อเด็กท้องเสีย พ่อแม่ควรแก้ปัญหาอย่างไร? 
21 มิ.ย. 64
4326
เมื่อเด็กท้องเสีย พ่อแม่ควรแก้ปัญหาอย่างไร? 
ผลเสียของเด็กทารกท้องเสียที่อาจส่งผลถึงชีวิต
ส่วนใหญ่มักพบอาการท้องเสียเฉียบพลันในทารก (เด็กอายุไม่ถึง 1 ปี) หากปล่อยให้เกิดอาการท้องเสียอย่างหนัก จะเกิดภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง จนเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเมื่อเกิดอาการท้องเสีย เด็กทารกจะสูญเสียน้ำในสัดส่วนที่มาก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำทั้งหมดในร่างกาย อาการขาดน้ำ สามารถแก้ไขได้ด้วยการชดเชยน้ำที่เสียไป โดยการให้กินนมแม่หรือนมที่กินอยู่ประจำ

เด็กถ่ายเหลวคือเด็กท้องเสีย
หนึ่งในงานหลักของพ่อแม่และคนเลี้ยงดูเด็กทารก คือการสังเกตลักษณะอุจาระของทารก ว่ามีลักษณะอ่อนหรือแข็งเกินไป หรือมีสีอย่างไร ซึ่งมีบทความมากมายบนโลกออนไลน์ที่ให้ข้อมูลการบ่งบอกลักษณะของอุจจาระ เมื่อการถ่ายเหลวหรือการไม่เป็นก้อนคืออาการท้องเสีย เหมือนผู้ใหญ่ที่เราอาจคุ้นเคยกันดีกับอาการท้องเสีย แต่อาการท้องเสียในเด็กทารกเป็นเรื่องสำคัญมากๆคือการถ่ายเป็นน้ำติดๆ กันหลายครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อาการท้องเสียชนิดเฉียบพลันทันด่วนในเด็กทารกส่วนใหญ่ จะหายได้เองใน 2 หรือ 3 วัน แต่ถ้าไม่หาย รวมทั้งหากทารกเริ่มซึมลง มีไข้ กินนมหรืออาหารได้น้อยลง ควรพบแพทย์โดยด่วน

อาการเด็กทารกท้องเสีย
- ถ่ายเหลว (มีน้ำมากกว่าของแข็ง หรืออาจมีมูกเลือดปน)
- งอแง ไม่ร่าเริงเหมือนปกติ
- ถ้าอาการหนัก จะมีไข้และอาเจียน

การป้องกันเด็กทารกท้องเสีย
ทานนมแม่อย่างเดียวคือการป้องกันท้องเสียที่ดีที่สุด เพราะได้ทั้งสะอาด ประหยัด แถมยังให้ภูมิคุ้นกันแก่ทารก
อาการท้องเสียในเด็กทารกมักเกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้นให้ระวังเรื่องอาหารที่ทานเข้าไปเป็นหลัก ต้องสะอาดสดใหม่เท่านั้น
รองลงมาก็คือ การหยิบอะไรเข้าปาก สิ่งของที่อาจมีเชื้อไวรัสอยู่ ควรทำความสะอาดสิ่งของรอบตัวลูก หรือของเล่นเด็กให้หมดทุกชิ้น รวมทั้งขวดนม จุกนมที่ต้องต้ม ทำความสะอาดหลังการใช้ทันทีและฆ่าเชื้อโดยการต้มจนเดือดอย่างน้อย 10-15 นาที

วิธีบรรเทาอาการทารกและเด็กท้องเสีย
1. ไม่ควรทานยาหยุดถ่าย ยาแก้ท้องเสีย เพราะจะทำให้ของเสีย รวมทั้งเชื้อโรคไวรัสไม่ถูกขับถ่ายออกมา
2. ดื่มนมแม่ต่อไป เพราะช่วยลดการขาดน้ำ และเสริมภูมิคุ้มกัน
3. สำหรับเด็กที่ทานนมผสม ไม่ต้องหยุดทาน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3 วัน ควรลองเปลี่ยนนมประเภทที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโตสในช่วงนี้
4. เด็กโตหรือเด็ก 1 ปีขึ้นไป ให้อาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม หรือ โจ๊ก และควรให้กินบ่อยมากขึ้นกว่าปกติเพื่อทดแทนสิ่งที่เสียไปจากร่างกาย
5. สำหรับเด็กทารกท้องเสียที่เริ่มทานอาหารได้บ้าง ประมาณ 5-6 เดือนขึ้นไป ควรให้อาหารครั้งละน้อยลงเพื่อให้ลำไส้มีเวลาดูดซึมสารอาหารมากขึ้น
6. ถ้าเสียน้ำมาก ถ่ายเป็นน้ำ ให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่โออาร์เป็นระยะๆ
7. ถ้าเด็กท้องเสียถ่ายเป็นมูก หรือมูกเลือด ถ่ายเป็นน้ำติดๆ กันหลายวัน หรือมีไข้สูง อาเจียน ไม่กินนม ไม่กินอาหารเลย และอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ด่วน

แหล่งที่มาบทความเกี่ยวกับอาการเด็กท้องเสีย:
www.dumex.co.th/articles/Pages/7_12months/Child%20Development/Diarrhoea.aspx  https://www.hifamilyclub.com/baby/advice-for-new-parent/diarrhea.html  www.thaipediatrics.org/Media/media-20161218145400.pdf 

บทความที่เกี่ยวข้อง