ลูกแหวะนม ทำอย่างไรดีที่สุด
ลูกแหวะนม ทำอย่างไรดี?
อาการแหวะนม (บ้วนนมออกมา) ของลูกน้อยอาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ว่าเด็ก ๆ คนไหนก็เป็นกันนั้นก็มีส่วนจริง แต่อาการแหวะนมผงที่เป็นมากและบ่อยเกินไปก็อาจจะไม่ใช่เรื่องธรรมดาและอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของทารกได้
สาเหตุที่ ลูกแหวะนม เกิดจากอะไร และมีอันตรายหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทราบไว้เพื่อดูแลลูกน้อยได้อย่างดีต่อไป
สาเหตุของลูกแหวะนม
การแหวะนม หรือ regurgitation เป็นอาการที่มักเกิดกับทารกแรกเกิดในช่วงแรกโดยเฉพาะใน 4 เดือนแรกนั้นจะพบอาการแหวะนมได้สูงมาก สาเหตุเนื่องมาจากทารกดูดนมในปริมาณมาก แต่ขนาดของกระเพาะยังเล็กอยู่ทำให้ไม่มีพื้นที่เพียงพอต่อปริมาณน้ำนมที่ดูดเข้าไป ประกอบกับกล้ามเนื้อในบริเวณหูรูดของหลอดอาหารยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่นัก แต่อาการแหวะนมจะดีขึ้นและหายไปในช่วงวัย 12 ถึง 18 เดือน
ท่าทางที่ทำให้เกิดอาการแหวะนมได้ง่าย
คุณแม่มือใหม่อาจจะยังไม่ทราบว่าท่าทางการดูดนมทั้งระหว่างและหลังดูดนมของลูกน้อยมีส่วนทำให้เกิดอาการแหวะนมได้ง่าย เมื่อจับลูกน้อยให้นอนหงายจะทำให้ลูกแหวะนม เมื่อลูกดูดนมจนอิ่มแล้วจึงต้องอุ้มพาดไหล่ให้เรอนั่นเอง
การแหวะนมที่เป็นภาวะของโรค GERD
เมื่อลูกน้อยมีอาการแหวะนมบ่อย ๆ คุณแม่จะต้องสังเกตความผิดปกติ ละไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะเมื่อ ลูกแหวะนม บ่อยจนเกินไปหรือแหวะนมออกมามาก อาจจะเป็นไปได้ว่าลูกเป็นโรค GERD โรคนี้ก็คือโรคกรดไหลย้อนเป็นอาการไหลย้อนของกรด หรือของเหลวต่าง ๆ ที่อยู่ในกระเพาะอาหารของลูกน้อยไหลย้อนมาสู่หลอดอาหารทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว และเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจรวมถึงระบบทางเดินอาหาร
สังเกตได้อย่างไรว่าอาการแหวะนมนั้นเป็นอาการของโรค
1. ลูกร้องงอแงบ่อย อารมณ์ไม่ดีแสดงอาการไม่สบายตัว
2. ลูกปฎิเสธที่จะดูดนมหรือหยุดดูดนมกลางคันทั้ง ๆ ที่กำลังหิวนม
3. ลูกน้ำหนักไม่ขึ้นตามที่ควรเป็น
4. มีภาวะกรดไหลย้อนเมื่ออาเจียนหรือแหวะมีน้ำดีเจือปน
5. อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ได้แก่ภาวะที่เกิดในทางเดินหายใจ แสดงออกมาเป็นการสำลัก หายใจหอบและไอ
ข้อควรสังเกตก็คือ หลายครั้งการแหวะนมอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การไหลย้อน แต่อาจเกิดจากการแพ้นมวัวซึ่งจะมีอาการแสดงที่แตกต่างออกไปเพิ่มขึ้นมาเช่น ผิวหนังอักเสบ หายใจครืดคราด คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก และอาจถ่ายเหลวหรือถ่ายมีเลือดปน ลูกจะไม่ค่อยอยากทานนม หากมีอาการเพิ่มขึ้นมาเช่นนี้ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีสาเหตุมาจากการแพ้นมวัว ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะหากที่บ้านมีประวัติภูมิแพ้ด้วย
> นมแบบไหนเหมาะสมกับลูกน้อยของเรากันนะ <
วิธีการแก้ไขเมื่อลูกแหวะนม
คุณแม่สามารถช่วยลดอาการแหวะนมของลูกน้อยโดย
1.เมื่อมีอาการแหวะนมบ่อย ๆ และปริมาณแหวะมากขึ้นให้ลดปริมาณนมที่ลูกกินลง
2.หลังดูดนมให้จับลูกเรอนม ด้วยท่าทางที่ถูกต้องหลังอิ่มนมทันที โดยท่าอุ้มเรอที่ถูกต้องมีดังนี้
● ท่านั่งตักแม่ อุ้มลูกให้นั่งตัก ใช้มือข้างซ้ายประคองที่คางลูกน้อย ให้คางของลูกอยู่ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วโป้ง มือของคุณแม่จะอยู่ในตำแหน่งลิ้นปี่และหน้าอกลูกพอดี ยืดตัวลูกให้ตรงเอนมาข้างหน้าเล็กน้อย มือขวาของคุณแม่ทำมืออูมโค้งแล้วเคาะเบา ๆ ที่หลังลูก ลูกก็จะเรอง่าย
● ท่าอุ้มลูกน้อยพาดบ่า อุ้มลูกเข้าหาตัวให้คางลูกพาดที่บ่า ตัวลูกแนบอกแม่มือหนึ่งประคองศีรษะลูก อีกมือลูบหลังเบา ๆ ท่านี้จะทำได้ถนัดและสบายทั้งคุณแม่คุณลูกถ้านั่งบนเก้าอี้เอนหลัง
● ท่าลูกน้อยพาดตัก ให้ลูกน้อยนอนคว่ำพาดอยู่ที่ตักของคุณแม่ มือข้างหนึ่งของคุณแม่ประคองศีรษะลูกน้อยยกขึ้นเล็กน้อยให้สูงกว่าส่วนลำตัว อีกมือลูบหลังลูกให้เรอ
เมื่อทำท่าทางดังกล่าวอุ้มลูกน้อยให้เรอแล้ว แต่ลูกยังไม่เรอ อย่าเพิ่งกังวลใจให้ใช้เวลาอุ้มเรอต่อสักพัก ลูกก็จะเรอ แต่หากครั้งใดลูกไม่เรอ การอุ้มลูกในท่าอุ้มเรอก็จะช่วยให้นมไหลลงสู่กระเพาะได้ดี ลูกน้อยจะสบายตัวและหลับง่าย
3. ปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกนมสูตรคอมฟอร์ท ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ย่อยง่ายเพื่อช่วยลดอาการไม่สบายท้อง และช่วยลดอาการแหวะนมได้ จึงเป็นอีกทางเลือกของคุณแม่เพื่อช่วยให้ลูกสบายท้องขึ้น
ทั้งหมดนี้ เป็นเทคนิคเบื้องต้นที่คุณแม่และคุณพ่อสามารถช่วยลดอาการแหวะนมของลูกน้อย เพื่อช่วยให้ลูกสบายท้องและเติบโตอย่างสมบูรณ์
ขอขอบคุณข้อมูล ลูกแหวะนม:
http://www.vichaiyut.co.th/health/informations
http://www.phyathai-sriracha.com/pytsboard/QANDA/showQA.php?qID=1766&cateID=5